วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กฎกติกากระบี่กระบอง

การคิดคะแนน แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้คือ

1. ประเภทเครื่องแต่งกาย (4 คะแนน)

         - แต่งแบบนักรบไทโบราณสมัยต่าง ๆ

         - แต่งแบบชาวบ้าน ทั้งโบราณและปัจจุบัน เช่น นุ่งกางเกงส่วนนุ่งผ้าโจงกระเบนด้วยผ้าพื้นหรือผ้าลาย ใส่เสื้อคอกลม แขนสั้น หรือแขนทรงกระบอก คาดผ้าตะเบงมาน ใส่ชุดม่อฮ่อม หรือกางเกงยาว เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าขาวม้าคาดเอว

         - แต่งแบบกีฬานิยม เช่น นุ่งกางเกงขาสั้น หรือขายาว ใส่เสื้อทีมหรือเสื้อธรรมดาแขนสั้นหรือยาว มีผ้าคาดเอวหรือไม่มีก็ได้ รองเท้าผ้าใบ และใส่ถุงเท้า

         การแต่งกายทั้ง 3 ข้อ ข้างต้นต้องแต่งให้เหมือนกันทั้งคู่ นอกจากเรื่องสีแล้ว ต้องดูเรื่องความสะอาด เรียบร้อย รวมทั้งต้องสวมมงคล ทุกครั้งที่ออกแสดง

2. ประเภทรำ (10 คะแนน)

         - การถวายบังคม

         - การรำพรหมนั่ง หรือ พรหมยืน

         - ลีลาการรำ กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขัน รำเพียงเที่ยวเดียว ไม่ต่ำกว่า 2 ท่า และมีลีลาการรำที่เข้ากับจังหวะดนตรีและสวมบทบาทของการรำ เช่น ท่านาง ท่าลิง ซึ่งมีท่ารำอื่น ๆ อีก 12 ท่า คือ ท่าลอยชาย ท่าทัดหูหรือควงทัดหู ท่าเหน็บข้าง ท่าตั้งศอก ท่าจ้วงหน้าจ้างหลัง ท่าควงป้องหน้า ท่ายักษ์ ท่าสอยดาว ท่าควงแตะ ท่าแหวกม่าน ท่าลดล่อ และท่าเชิงเทียน

3. ประเภท การเดินแปลง (6 คะแนน)

         เมื่อรำจบแล้วนั่งลง ก่อนออกเดินแปลง ผู้เข้าแข่งขันไม่ต้องถวายบังคม เพียงแต่แต่ไหว้น้อมรำลึกถึงครู อาจารย์ครั้งเดียว แล้วเริ่มรำพรหม หรือจะไม่รำก็ได้แล้วออกเดินแปลงเพียงเที่ยวเดียว

4. ประเภท การต่อสู้ (20 คะแนน)

         การต่อสู้ของแต่ละคู่ จะต้องมีเหตุผลสมจริง และถูกต้องตามหลักวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว และไม่เป็นการอนาจาร

กำหนดเวลาการแข่งขันกีฬากระบี่กระบอง

         การแข่งขันตั้งแต่ประเภท 2, 3 และ 4 กำหนดให้ใช้เวลาในการแข่งขันคู่ละ 7 นาที เมื่อนักกีฬาแสดงครบเวลา 6 นาที กรรมการจะกดกริ่งเตือน 1 ครั้ง เมื่อนักกีฬาแสดงต่อไปต่อไปจนครบเวลา 7 นาที กรรมการจะประกาศให้ทราบว่าหมดเวลาแล้ว แต่ถ้านักกีฬาแสดงเกินกำหนดเวลา 7 นาที กรรมการจะตัดคะแนนคู่นั้น 2 คะแนน จากคะแนนรวมในการตัดสิน


กรรมการผู้ตัดสินกีฬากระบี่กระบอง

         ให้ใช้กรรมการผู้ตัดสิน โดยผู้ทรงคุณวุฒิคราวละ 5 ท่าน จากสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีคะแนนตัดสินท่านละ 40 คะแนน



การให้คะแนน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

         - การแต่งกาย 4 คะแนน

         - การรำ 10 คะแนน

         - การเดินแปลง 6 คะแนน

         - การต่อสู้ 20 คะแนน

         รวม 40 คะแนน

         ให้นำคะแนนจากกรรมการผู้ตัดสินทั้ง 5 ท่าน มาตัดสินคะแนนที่ให้สูงที่สุด และตัดคะแนนต่ำที่สุดออก รวมคะแนนที่เหลือแล้วหารด้วย 3 ผลลัพธ์ที่ได้เป็นคะแนนของนักกีฬาคู่นั้นเมื่อเรียงลำดับแล้ว คู่ใดมีคะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ และรองลงมาตามลำดับคะแนน ในกรณีที่มีคะแนนเท่ากัน ให้พิจารณาดังนี้

         1. ให้ดูเฉพาะคะแนนการต่อสู้ ถ้าฝ่ายใดมีคะแนนสูงกว่าให้เป็นผู้ชนะ

         2. ถ้าคะแนนการต่อสู้ยังเท่ากันอยู่ ให้ดูคะแนนการรำถ้าฝ่ายใดมีคะแนนสูงกว่าให้เป็นผู้ชนะ

         3. ถ้าคะแนนการรำยังเท่ากันอยู่ให้ดูเฉพาะคะแนนการเดินแปลง ถ้าฝ่ายใดมีคะแนนสูงกว่าให้เป็นผู้ชนะ

         4. ถ้าคะแนนยังเท่ากันอีก ให้ครองตำแหน่งร่วมกัน และให้เลื่อนคะแนนรองขึ้นมาเรียงลำดับ 1 หรือ 2 หรือ 3 ต่อไป



คะแนนรวมของทีม

         ให้นำผลการแข่งขันของนักกีฬาภายในทีมที่ชนะ ที่ 1-2-3 ในแต่ละชนิดอาวุธมารวมกัน โดยคิดคะแนนดังนี้    

         - ชนะเลิศ ได้ 5 คะแนน

         - รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้ 3 คะแนน

         - รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้ 1 คะแนน

         ทีมใดมีคะแนนรวมมากที่สุด เป็นทีมที่ชนะ




วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

ลูกไม้ 6 ไม้

ไม้ตีที่ 1

ท่าคุมตีลูกไม้
ท่าคุมตีลูกไม้เป็นท่ายืนเตรียมพร้อมก่อนที่จะฝึกหัดตีลูกไม้โดยยืน เท้าชิด หันหน้าเข้าหากัน มือจับกระบี่อยู่ทางขวา ปลายกระบี่พิงอยู่ที่ไหล่ขวา แขนเหยียดตึง โกร่งกระบี่อยู่ข้างหน้า แขนซ้ายอยู่ข้างลำตัว

จากท่าคุมตีลูกไม้ จังหวะที่
 1
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นตีลงทางไหล่ซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นป้องระดับหู มือกำหลวม ๆ
- ฝ่ายรับถอยเท้าซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับทางไหล่ซ้าย ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาลำตัว มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลังทางซ้าย

จังหวะที่
 2
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาคู่ต่อสู้ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลงป้องอยู่ข้างหน้าลำตัว
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พลิกกระบี่หมุนกลับไปทางขวาเพื่อรับการตีของฝ่ายรุก ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาตัวพร้อมกับลดแขนซ้ายลงป้องกันอยู่ข้างหน้า


ไม้ตีที่ 2
จากท่าคุมตีลูกไม้ จังหวะที่ 1
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นตีลงทางไหล่ซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นป้องระดับหู มือกำหลวม ๆ
- ฝ่ายรับถอยเท้าซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับทางไหล่ซ้ายให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาลำตัว มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลังทางซ้าย

จังหวะที่
 2
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาคู่ต่อสู้ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตี ลงทางด้านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลงป้องอยูข้างหน้าลำตัว
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พลิกกระบี่หมุนกลับไปทางขวา เพื่อรับการตีของฝ่ายรุกให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาตัวพร้อมกับลดแขนซ้ายลงป้องกันอยู่ข้างหน้า
จังหวะที่ 3
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาเข้าหาฝ่ายรับ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านขาซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้น
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง พร้อมกับลดปลายกระบี่ลงไปรับการตีของฝ่ายรุกทางซ้าย มือซ้ายยกขึ้น
จังหวะที่ 4
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าซ้ายเข้าหาฝ่ายรับ พร้อมกับยกกระบี่ตวัดไปตีลง ทาง ขาขวาของฝ่ายรับ มือซ้ายลดลง
- ฝ่ายรับถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พร้อมกับพลิกกระบี่กลับไปรับทางขวา มือซ้ายลดลง


ไม้ตีที่ 3
จากท่าคุมตีลูกไม้ จังหวะที่ 1
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นตีลงทางไหล่ซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นป้องระดับหู มือกำหลวม ๆ
- ฝ่ายรับถอยเท้าซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับทางไหล่ซ้าย ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาลำตัว มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลังทางซ้าย

จังหวะที่
 2
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาคู่ต่อสู้ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลงป้องอยู่ข้างหน้าลำตัว
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พลิกกระบี่หมุนกลับไปทางขวาเพื่อรับการตีของฝ่ายรุก ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาตัวพร้อมกับลดแขนซ้ายลงป้องกันอยู่ข้างหน้า

จังหวะที่
 3
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาเข้าหาฝ่ายรับ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านขาซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้น
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง พร้อมกับลดปลายกระบี่ลงไปรับการตีของฝ่ายรุกทางซ้าย มือซ้ายยกขึ้น

จังหวะที่
 4
- ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเหวี่ยงขึ้นไปทางซ้าย หมุนตัวไปทางซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ตวัดไปตีลงทางขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลง
- ฝ่ายรับ ยกเท้าขวาเหวี่ยงขึ้นไปทางซ้าย หมุนตัวไปทางซ้าย พร้อมกับพลิกกระบี่ไปรับการตีของฝ่ายรุก มือซ้ายลดลง



ไม้ตีที่ 4
จากท่าคุมตีลูกไม้ จังหวะที่ 1
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นตีลงทางไหล่ซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นป้องระดับหู มือกำหลวม ๆ
- ฝ่ายรับถอยเท้าซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับทางไหล่ซ้าย ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาลำตัว มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลังทางซ้าย

จังหวะที่ 2
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาคู่ต่อสู้ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลงป้องอยู่ข้างหน้าลำตัว
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พลิกกระบี่หมุนกลับไปทางขวา เพื่อรับการตีของฝ่ายรุก ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาตัวพร้อมกับลดแขนซ้ายลงป้องกันอยู่ข้างหน้า

จังหวะที่ 3
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับตวัดกระบี่กลับไปตีตัดลำตัวทางซ้ายของคู่ต่อสู้ มือซ้ายกำหลวม ๆยกขึ้นข้างหลัง
- ฝ่ายรับ ลดกระบี่ลงมารับทางซ้ายของลำตัว มือซ้ายจับส่วนปลายของกระบี่ หันฝ่ามือออกข้างนอก กระบี่ตั้งตรงและถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง

จังหวะที่ 4
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า พร้อมกับตวัดกระบี่กลับไปตีตัดลำตัว ทางขวาของคู่ต่อสู้ 
- ฝ่ายรับพลิกกระบี่ ไปรับทางขวา มือขวาอยู่บน พร้อมกับถอยเท้าขวาไปข้างหลัง



ไม้ตีที่ 5
จากท่าคุมตีลูกไม้ จังหวะที่ 1
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นตีลงทางไหล่ซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นป้องระดับหู มือกำหลวม ๆ
- ฝ่ายรับถอยเท้าซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับทางไหล่ซ้าย ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาลำตัว มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลังทางซ้าย

จังหวะที่
 2
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาคู่ต่อสู้ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลงป้องอยู่ข้างหน้าลำตัว
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พลิกกระบี่หมุนกลับไปทางขวา เพื่อรับการตีของฝ่ายรุก ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาตัวพร้อมกับลดแขนซ้ายลงป้องกันอยู่ข้างหน้า

จังหวะที่
 3
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับตวัดกระบี่กลับไปตีตัดลำตัวทางซ้ายของคู่ต่อสู้ มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลัง
- ฝ่ายรับ ลดกระบี่ลงมารับทางซ้ายของลำตัว มือซ้ายจับส่วนปลายของกระบี่ หันฝ่ามือออกข้างนอก กระบี่ตั้งตรงและถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง

จังหวะที่
 4
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า พร้อมกับตวัดกระบี่กลับไปตีตัดลำตัวทางขวาของคู่ต่อสู้ 
- ฝ่ายรับพลิกกระบี่ ไปรับทางขวา มือขวาอยู่บน พร้อมกับถอยเท้าขวาไปข้างหลัง

จังหวะที่
 5
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ตีลงตรงศีรษะของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นด้านหลัง
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับเหนือศีรษะ  มือซ้ายจับด้านปลายกระบี่ ให้กระบี่ขนานพื้น


ไม้ตีที่ 6
จากท่าคุมตีลูกไม้ จังหวะที่ 1
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นตีลงทางไหล่ซ้ายของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นป้องระดับหู มือกำหลวม ๆ
- ฝ่ายรับถอยเท้าซ้าย พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับทางไหล่ซ้ายให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาลำตัว มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลังทางซ้าย

จังหวะที่
 2
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาคู่ต่อสู้ พร้อมกับตวัดกระบี่ไปตีลงทางด้านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้ มือซ้ายลดลงป้องอยู่ข้างหน้าลำตัว
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง พลิกกระบี่หมุนกลับไปทางขวาเพื่อรับการตีของฝ่ายรุก ให้ปลายกระบี่เฉียงเข้าหาตัวพร้อมกับลดแขนซ้ายลงป้องกันอยู่ข้างหน้า

จังหวะที่
 3
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับตวัดกระบี่กลับไปตีตัดลำตัวทางซ้ายของคู่ต่อสู้ มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกขึ้นข้างหลัง
- ฝ่ายรับ ลดกระบี่ลงมารับทางซ้ายของลำตัว มือซ้ายจับส่วนปลายของกระบี่ หันฝ่ามือออกข้างนอก กระบี่ตั้งตรงและถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง
จังหวะที่ 4
- ฝ่ายรุกก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า พร้อมกับตวัดกระบี่กลับไปตีตัดลำตัวทางขวาของคู่ต่อสู้ 
- ฝ่ายรับพลิกกระบี่ ไปรับทางขวา มือขวาอยู่บนพร้อมกับถอยเท้าขวาไปข้างหลัง

จังหวะที่ 5
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พร้อมกับยกกระบี่ตีลงตรงศีรษะของฝ่ายรับ มือซ้ายยกขึ้นข้างหลัง
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง พร้อมกับยกกระบี่ขึ้นรับเหนือศีรษะ มือซ้ายจับด้านปลายกระบี่ ให้กระบี่ขนานพื้น

จังหวะที่ 6
- ฝ่ายรุก ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า พร้อมกับยกโกร่งกระบี่ขึ้น ให้ปลายกระบี่ชี้ไปข้างหลัง ใช้โคนกระบี่กระแทกลงไปที่หน้าของฝ่ายรับมือซ้ายลดลง
- ฝ่ายรับ ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง ยกกระบี่ขึ้นเหมือนจังหวะที่ 5 ใช้ตัวกระบี่รับโคนกระบี่ของฝ่ายรุก แล้วดันขึ้น





ไม้รำ 12 ไม้รำ

ท่ารำกระบี่-กระบอง 12


1. ไม้รำที่ 1 ลอยชาย ทิศในการเดิน เดินเฉียงแบบสลับฟันปลาเริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปขวา วางเท้าซ้ายลงหน้าเท้าขวาลักษณะทำกึ่งขวาหันโล้น้ำหนักตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอเล็กน้อย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ลำตัวตรง รักษาระดับกระบี่ให้ขนานพื้น
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้น แล้วใช้มือซ้ายรำหน้าให้ตัวนิ่ง
จังหวะที่ 4 หมุนตัวไปทางซ้าย 1 มุมฉากวางเท้าซ้ายลงพร้อมกับวางกระบี่ ให้กระบี่ขนานกับพื้นไปทางซ้ายของลำตัวระดับเอว ปลายกระชี่ชี้ไปข้างหน้า มือซ้ายจีบที่หน้าอก
จังหวะที่ 5 ก้าวเท้าขวาเลยเท้าซ้ายไปข้างหน้า
จังหวะที่ 6 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา
จังหวะที่ 7 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้นพร้อมก้มเหยียดแขนซ้ายอกรำข้าง
(จบไม้รำที่ 1 ลอยชาย)

    2. ไม้รำที่ 2 ควงทัด ทิศทางในการเดินสลับปลาจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 จะเริ่มจากท่าคุมรำให้ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปทางเท้าขวา วางเท้าซ้ายลงหน้าเท้าขวา ลักษณะกึ่งขวาหัน พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ ยกขึ้นทัดหู ปลายกระบี่ 45องศา โล้น้ำหนักตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอเล็กน้อย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดซ้ายช้า ๆ ลำตัวตรง (ทรงตัวให้นิ่ง)
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉากปลายเท้างอ ลำตัวตั้งตรง (ทรงตัวให้นิ่ง)
จังหวะที่ 4 หมุนตัวไปทางซ้ายเฉียงซ้ายลักษณะยกเท้าซ้าย พร้อมจ้องปลายกระบี่ลงข้างหน้าแล้วพลิกข้อมือหงายให้ปลายกระบี่ชี้เฉียงด้านหน้าประมาณ 45 องศา
จังหวะที่ 5 ก้าวเท้าชิดเท้าขวา ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉากต่อกับข้อศอกขวา ปลายเท้างอขึ้นพร้อมกับมือซ้ายรำข้าง
(จบไม้รำที่ 2 ควงทัด)

    3. ไม้รำที่ 3 เสือลากหาง ทิศทางในการเดิน เดินตรงไปข้างหน้าเริ่มจากท่าคุม
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า 1 ก้าว โล้ตัวไปข้างหน้าเข่าซ้าย งอเท้าขวาเหยียดตึง น้ำหนักตัวค่อนไปเท้าหน้า คือเท้าซ้าย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ทำช้า ๆ ลำตัวตรง หน้าตรง รักษาระดับกระบี่ให้ขนานพื้น
จังหวะที่ 3 ถ่ายน้ำหนักตัวลงที่เท้าขวา พร้อมกับยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ลำตัวตรง แล้วใช้มือซ้ายรำหน้า จังหวะที่ 4 ถ่ายน้ำหนักตัวไปข้างหน้าพร้อมกับวางเท้าซ้ายลงพื้น แล้วพลิกตัวทำกลับหลังหันเท้าทั้งสองเป็นจุดหมุน พร้อมกับโล้ตัวไปเท้าขวา พลิกปลายกระบี่ชี้ลงพื้น โกร่งกระบี่หันออก มือซ้ายจีบเข้ากลางหน้าอก
จังหวะที่ 5 ถ่ายน้ำหนักตัวไปเท้าซ้าย ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก หมุนตัวทางขวามือทำกลับหลังหัน โดยใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุน ลดกระบี่ไว้ข้างเอว ทางซ้ายมือ
จังหวะที่ 6 วางเท้าขวาลงข้างหน้า แบมือว้าย แตะกระบี่ที่อยู่ข้างเอว โล้ตัวไปเท้าขวา ลำตัวตรง เท้าซ้ายเหยียดตรง
จังหวะที่ 7 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ลักษณะย่อตัวเล็กน้อยเพื่อความสวยงาม ลำตัวตั้งตรงสายตามองตรงไปข้างหน้า กระบี่ขนานพื้น มือซ้ายยังคงแตะอยู่ที่กระบี่เอวซ้าย
จังหวะที่ 8 ยกเข่าขวาขึ้นให้ตั้งฉาก พร้อม ๆ กับมือซ้ายรำข้าง
(จบไม้รำที่ 3 เสือลากหาง)

    4. ไม้รำที่ 4 ตั้งศอก ทิศทางในการเดิน เดินเฉียงสลับฟันปลา เริ่มจากท่าคุม จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายเฉียงทางขวา พร้อมกับควงกระบี่ลงข้างหน้า 2 รอบ และยกกระบี่ขึ้นทัดหูโล้ลำตัวไปข้างหน้า น้ำหนักลงที่เท้าซ้าย เข่าซ้ายงอเล็กน้อย เท้าขวาเหยียดตึง ปลายกระบี่ชี้ 45 องศา
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้ายช้า ๆ สายตามองที่ปลายกระบี่ ลำตัวตรง
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้น พร้อมกับมือซ้ายตั้งศอก แบมือเรียงชิดติดกัน ให้ศอกตั้งบนเข่าซ้าย ปลายนิ้วแตะที่ตัวกระบี่ลำตัวตั้งตรง
จังหวะที่ 4 ค่อย ๆ หมุนตัวไปทางซ้าย เพื่อทำเฉียงซ้าย ลดมือซ้ายลงจีบที่กลางหน้าอก พลิกข้อมือขวาหงายขึ้นให้โกร่งกระบี่หันเข้าหาตัว พร้อมกับวางเท้าซ้ายลงพื้น
จังหวะที่ 5 ก้าวเท้าขวาเฉียงไปทางซ้าย วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้าย พร้อมกับโล้ตัวไปให้น้ำหนักลงที่เท้าขวา งอเข่าขวาเล็กน้อยลำตัวตั้งตรง
จังหวะที่ 6 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ช้า ๆ เพื่อความสวยงาม ลำตัวตรง ปลายกระบี่ชี้ 45องศา สายตามองที่ปลายกระบี่
จังหวะที่ 7 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งรองรับข้อศอกขวา ตัวตรงนิ่ง พร้อมกับใช้มือซ้ายรำข้าง
(จบไม้รำที่ 4 ตั้งศอก)

    5.ไม้รำที่ 5 จ้วงหน้าจ้วงหลัง ทิศทางการเดินตรงไปข้างหน้า เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายเดินตรงไปข้างหน้า พร้อมกับควงกระบี่ไปข้างหน้า 2 รอบ ยกขึ้นทัดหู วางเท้าซ้ายลงพื้นหน้าเท้าขวา โล้ตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยกระบี่ชี้ 45 องศา ลำตัวตรง
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้ายช้า ๆ สายตามองที่ปลายกระบี่ ลำตัวตรง
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้น จะต้องยืนให้มั่นคงนิ่งไว้ประมาณ 5วินาที
จังหวะที่ 4 วางเท้าซ้ายลงข้างหน้าตรง ๆ โล้ตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย (เพื่อที่จะยกเท้าขวาก้าวต่อ)
จังหวะที่ 5 ขณะที่วางเท้าซ้ายลงข้างหน้าตรง ๆ ให้จ้วงกระบี่ลงข้างหน้าปลายกระบี่เฉียงไปข้างซ้ายลำตัว พร้อมกับจ้วงเท้าขวาไปข้างหน้าอีก 1 ก้าว เรียกว่า “จ้วงหน้า
จังหวะที่ 6 วางเท้าขวาหน้า พร้อมกับพลิกข้อมือให้โกร่งกระบี่หันเข้าหาตัว ปลายกระบี่ชี้ขึ้น 45 องศา โล้ตัวไปข้างหน้าน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา
จังหวะที่ 7 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเข่าขวาขึ้นตั้งรองรับข้อศอกขวา ปลายกระบี่ชี้ 45องศา ลำตัวตรง มือซ้ายค่อย ๆ รำข้าง ประมาณ 5 วินาที จึงจีบเข้าไว้กลางหน้าอกเช่นเดิม
จังหวะที่ 8 วางเท้าขวาลงพื้นข้างหน้า พร้อมกับหมุนตัวไปทางซ้ายมือกลับหลังหัน ยกกระบี่ขึ้นทัดหูโล้ตัวไปข้างหน้า น้ำหนักตัวที่เท้าซ้ายเข่าซ้ายงอเล็กน้อย
จังหวะที่ 9 ยกเข่าซ้ายขึ้น พร้อมกับจ้วงกระบี่ลงข้างหน้า ถอยเท้าซ้ายไปวางหลังเท้าขวาพลิกข้อมือขวาหันโกร่งกระบี่เข้าหาตัวปลายกระบี่ชี้ขึ้น 45 องศา โล้น้ำหนักตัวไปเท้าขวาเล็กน้อย เรียกว่า “จ้วงหลัง
จังหวะที่ 10 โล้ตัวกลับน้ำหนักตัวลงเท้าซ้ายพร้อมกับยกเข่าขวาขึ้นรองรับข้อศอกขวา ปลายกระบี่ชี้ 45 องศา ลำตัวตรงพร้อมกับมือซ้ายรำข้าง
(จบไม้รำที่ 5 จ้วงหน้าจ้วงหลัง)
ถ้าต้องการรำต่อให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับจังหวะที่ 1 ถึงจังหวะที่ 10 โดยหมุนตัวกลับหลังหันใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุนพร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้าย ลักษณะคุมรำ

    6.ไม้รำที่ 6 ปกหน้าปกหลัง ทิศทางเดิน เดินตรงไปข้างหน้า เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ควงกระบี่ไปข้างหน้า 2 รอบ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า 1 ก้าว วางเท้าซ้ายลงพื้นพร้อมกับเหยียดแขนซ้ายรำหน้า ปกกระบี่ลงให้ปลายกระบี่ชี้ลงพื้น45 องศา วางโคนกระบี่พาดบนนิ้วก้อย หันโกร่งกระบี่ออกไปข้างหน้า โล้ตัวให้น้ำหนักตัวไปเท้าซ้าย เรียกว่า “ปกหน้า
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ก้มหน้า สายตามองที่ปลายกระบี่ (ทำช้า ๆ เพื่อความสวยงาม)
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ลำตัวตรง
จังหวะที่วางเท้าซ้ายลงพื้นข้างหน้า เท้าขวาพร้อมกับพลิกตัวทำกลับหลังหัน ควงกระบี่ 2 รอบ มือว้ายจีบเข้ากลางอก เมื่อกลับหลังหันแล้วให้ปกกระบี่ลง เหยียดมือซ้ายออกรำหน้า รองรับกระบี่ ปลายกระบี่ชี้ลงพื้น 45 องศา ก้มหน้าเล็กน้อย ถ่ายน้ำหนักตัวไปเท้าขวา เรียกว่า “ปกหลัง
จังหวะที่ 5 ยกเท้าขวาขึ้นตั้ง มือซ้ายจีบเข้ากลางอก หมุนตัวกลับหลังหัน โดยใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุน เพื่อหันกลับมาเริ่มในจังหวะที่ 1 ต่อไป
(จบไม้รำที่ 6 ปกหน้าปกหลัง) ถ้าต้องการจะรำต่อให้เริ่มปฏิบัติตาม จังหวะที่ 1 ถึงจังหวะที 5

    7.ไม้รำที่ 7 ท่ายักษ์ ทิศทางการเดิน เดินตรงไปข้างหน้า เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้าวางเท้าซ้ายโดยหันลำตัวทางขวา คล้ายทำขวาหัน ยืนในท่ายักษ์ คือการย่อเข่าทั้งสอง น้ำหนักตัวลงตรงกลาง ลำตัวตรง หน้าตรง ตัวกระบี่ขึ้นตรงวางไว้หน้าขาขวา ปลายกระบี่พาดช่วงไหล่ขวา
จังหวะที่ 2 เมื่อลำตัวนิ่งในท่ายักษ์แล้ว ให้สลัดหน้าไปทางซ้าย แล้วสลัดหน้าไปทางขวา
จังหวะที่ 3 สลัดหน้าตรงพร้อมกับยกกระบี่ขึ้นฟังให้ตรงข้างหน้าทางขวา 1 ครั้งทางซ้าย 1 ครั้ง โดยฟันเป็นลักษณะกากบาท
จังหวะที่ 4 เมื่อยก กระบี่ขึ้นฟันข้างหน้า ขวา – ซ้าย แล้วให้กลับอยู่ในท่ายักษ์
จังหวะที่ 5 ยกเข่าขวาตั้งฉากใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุนพลิกตัวกลับหลังหัน เมื่อกลับหลังหันแล้วให้วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้ายตัวตรง หน้ามองตรงพร้อมกับยกเท้าซ้ายหมุนตัวกลับหลังหันอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เท้าขวาเป็นจุดหมุน จะกลับมาอยู่คล้ายจังหวะที่ 4ลักษณะท่ายักษ์ เมื่อตัวนิ่งแล้ว ให้สลัดหน้าทางซ้าย 1 ครั้ง ทางขวา 1 ครั้ง และกลับมาสู่ท่ายักษ์
(จบไม้รำที่ 7 ท่ายักษ์)

    8.ไม้รำที่ 8 สอยดาว ทิศทางการเดิน เดินตรงไปข้างหน้า เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า เปลี่ยนวิธีจับกระบี่ใหม่ โดยใช้นิ้วชี้สอดขึ้นบนกระบี่ จับกระบี่ด้วยนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย พร้อมกับปล่อยปลายกระบี่หมุนลงล่าง โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางคีบกระบี่ ขณะที่ปล่อยปลายกระบี่หมุนลงล่าง จับกระบี่โดยหงายมือขึ้น โกร่งกระบี่หันออก วางเท้าซ้ายลงพื้นทำขวาหัน ลดมือซ้ายใช้ฝ่ามือแตะที่ตัวกระบี่ ปลายกระบี่ชี้ลงพื้นเล็กน้อย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ฝ่ามือซ้ายแตะที่กระบี่
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายตั้งฉาก ยกกระบี่ขึ้นเล็กน้อย ฝ่ามือซ้ายแตะกระบี่
จังหวะที่ 4 ก้าวซ้ายตรงไปข้างหน้า พร้อมกับจ้วงกระบี่และสอดกระบี่ขึ้นข้างบน เรียกว่า “สอยดาว” พร้อมกับก้าวเท้าขวาเดินอีก 1 ก้าว ทำกลับหลังหัน
จังหวะที่ 5 พลิกข้อมือกระบี่ตั้งขึ้นหันโกร่งกระบี่ออก งอเข่าทั้งสองข้างลำตัวตั้งตรง มือซ้ายจิ้มเข้ากลางหน้าอก
จังหวะที่ 6 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าหลัง
จังหวะที่ 7 ยกเข่าขวาตั้งฉาก เมื่อตัวนิ่งแล้วมือซ้ายเหยียดออกรำหน้า
จังหวะที่ 8 วางเท้าขวาลงพื้น พลิกข้อมือที่จับกระบี่หงายมือขึ้นแบฝ่ามือซ้ายหันฝ่ามือลง แตะปลายกระบี่ ถ่ายน้ำหนักตัวไปเข่าขวา ยกเข่าซ้ายตั้งฉากเพื่อเดินตรงไปข้างหน้า
จังหวะที่ 9 พลิกข้อมือหันโกร่งกระบี่ออกนอกลำตัว ปลายกระบี่ชี้ขึ้นข้างบนประมาณ45 องศา มือซ้ายจีบเข้ากลางหน้าอก ย่อเข่าทั้งสองเล็กน้อย
จังหวะที่ 10 ยกเข่าขวาตั้งฉากให้ตัวนิ่งแล้วมือซ้ายรำหน้า
(จบไม้รำที่ 8 สอยดาว) ถ้าต้องการรำต่อ หรือเข้าสู่ท่าคุมรำ ให้วางเท้าขวาลงบนพื้น ยกกระบี่ ขึ้นควง 2 รอบ อยู่ในท่าคุมรำ

    9.ไม้รำที่ 9 ควงแตะ ทิศทางการเดินตรงไปข้างหน้า เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า วางเท้าซ้ายลงพร้อมกับทำขวาหัน ควงกระบี่ 2รอบ เหยียดมือซ้ายรองรับปลายกระบี่ ที่ขนานกับพื้น หันโกร่งกระบี่ออกเรียกว่าควงแตะ งอเข่าทั้ง 2 เล็กน้อย ลำตัวตรง
จังหวะที่ 2 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก ใช้เท้าเป็นจุดหมุนกลับหลังหัน พร้อมกับควงกระบี่ 2รอบ วางเท้าขวา ลงพื้นในทิศทางตรงไปข้างหน้า เช่นเดียวกับจังหวะที่ 1 แต่หันหน้าตรงข้ามกัน
จังหวะที่ 3 ย่อเข่าทั้งสองเล็กน้อยลำตัวตั้งตรงกระบี่ขนานพื้น หน้ามองตรง
จังหวะที่ 4 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ทำช้า ๆ ให้ลำตัวนิ่ง
จังหวะที่ 5 ยกเข่าขวาตั้งฉาก
(จบไม้รำที่ 9 ควงแตะ)
ถ้าต้องการรำต่อก็เริ่มต้นตั้งแต่จังหวะที่ 1 โดยการวางเท้าขวาลงพื้นและก้าวเท้าซ้ายหมุนตัวกลับหันหลัง พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ “ควงแตะ

    10.ไม้รำที่ 10 หนุมานแหวกฟองน้ำ ทิศทางเดิน เดินตรงไปข้างหน้ากลับหลังหัน,ขวาหัน เริ่มจากท่าคุมรำ 
จังหวะที่
 1 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า 1 ก้าว พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ ยกขึ้นปก (แขนขวาแนบที่หูขวาคว่ำปลายกระบี่ชี้ลงพื้น 45 องศา โกร่งกระบี่หันออก โล้ตัวไปหน้าให้น้ำหนักตัวลงที่เท้าซ้าย ก้มหน้าเล็กน้อย มือซ้ายเหยียดออกคล้ายรำหน้า นิ้วชิดติดกัน หันฝ่ามือออกให้โคนกระบี่วางที่กลางนิ้วก้อย)
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย พยายามย่อเข่าทั้ง 2 ลงเล็กน้อย เพื่อความสวยงาม
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ให้ตัวนิ่งไว้ระยะหนึ่ง
จังหวะที่ 4 วางเท้าซ้ายลงพื้นข้างหน้าค่อย ๆ ยกปลายกระบี่ชี้ขึ้น มือทั้งสองทำท่าแหวก หรือท่าว่ายน้ำ ท่ากบ ซึ่งเรียกว่า แหวกฟองน้ำ ให้แขนทั้งสองเสมอไหล่ และขนานกับพื้น หันโกร่งกระบี่ออก ย่อเข่าซ้าย น้ำหนักตัวโล้ไปเท้าซ้าย
จังหวะที่ 5 วางเท้าซ้ายลงพื้นข้างหน้าพลิกตัวกลับหลังหันโดยหมุนตัวทางขวา รวมทั้งแขนทั้งสองมาป้องข้างหน้า โดยแบมือซ้ายหันฝ่ามือลงพื้นให้กระบี่ตั้งขึ้นอยู่ในง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้งอข้อศอกทั้งสองยกขึ้นขนานกับพื้นอยู่เหนือสายตา
จังหวะที่ 6 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก
จังหวะที่ 7 ใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก หมุนตัวไปทางขวา (ทำขวาหัน) พร้อมกับวางเท้าขวาลงข้างหน้า ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้นตั้งฉาก
(จบไม้รำที่ 10 หนุมานแหวกฟองน้ำ)

    11.ไม้รำที่ 11 ลดล่อ ทิศทางเดิน เดินตรงไปข้างหน้าโดยการพลิกตัวขวา – ซ้าย เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 จากท่าคุมรำลดกระบี่ลง แขนงอเล็กน้อย กระบี่ขนานพื้น มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกแขนขึ้นระดับหน้าผาก หันหน้ามองลอดแขนไปทางปลายกระบี่ ย่อตัวให้น้ำหนักตัวลงที่เท้าขวา ลักษณะนี้เรียกว่า “ลด” 
จังหวะที่
 2 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า 1 ก้าว ยกเท้าขวาหมุนตัวกลับหลังหัน โดยหมุนตัวทางขวามือ วางเท้าขวาหน้าเท้าซ้าย มือซ้ายกำหลวม ๆ ลดลงระหว่าหน้าขาซ้ายงอข้อศอกเล็กน้อยยกกระบี่ขึ้นแขนงระดับหน้าผาก ก้มหน้า หันหน้ามองปลายกระบี่เสมอ โล้ตัวไปข้างหน้า น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา ลักษณะนี้เรียกว่า “ล่อ” (จบไม้รำที่ 11 ลดล่อ) ถ้าต้องการรำต่อ ให้ก้าวเท้าซ้ายสอดไปหลังเท้าขวา และวางเท้าขวาข้างหน้าเท้าซ้าย พร้อมกับพลิกตัวกลับหลังทางซ้ายมือ กลับอยู่ท่าคุมรำ หรือทำจังหวะที่ 1ต่อไป 



ไม้รำที่ 12 เชิญเทียน ทิศทางเดิน เดินสลับฟันปลาเฉียงขวา เฉียงซ้าย เริ่มจากท่าคุมรำ
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปทางขวากึ่งขวาหัน ตั้งกระบี่ขึ้นเอามือซ้ายไปรองด้ามกระบี่ โดยแบมือขึ้น โล้น้ำหนักตัวไปข้างหน้า
จังหวะที่
 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้ายทำช้า ๆ
จังหวะที่
 3 ยกเท้าซ้ายขึ้นให้เข่าตั้งฉาก ลำตัวตรง
จังหวะที่ 4 ให้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุน หมุนตัวไปเฉียงซ้าย พร้อมกับวางเท้าซ้ายลงกึ่งซ้ายหันโล้น้ำหนักตัวไปเท้าหน้า คือเท้าซ้าย ลำตัวตรงนิ่งไว้ระยะหนึ่ง จึงก้าวเท้าขวาเดิน 1ก้าว วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้าย ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา
จังหวะที่ 5 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก มือว้ายรำโดยการพลิกให้ฝ่ามือหันออก หลังมืออยู่หน้าโกร่งกระบี่
(จบไม้รำที่ 12 เชิญเทียน)



การขึ้นพรหมยืน

การขึ้นพรหมยืน

• พรหมยืน ให้หันหน้าเข้าหาคู่พรหมนั่ง วางกระบี่ปลายชี้ไปข้างหน้าห่างกึ่งกลางเข่าทั้งสองพอประมาณ
• ประณมมือ ถวายบังคม 3 ครั้ง
• ประณมมือ วันทา แล้วหยิบกระบี่ทัดหูเฉียง 45 องศา ตั้งเข่าซ้าย 

• จ้วงกระบี่ด้านหน้า ลุกขึ้นยืนหันทางขวา 90 องศา หงายมือโกร่งอยู่ด้านบนกระบี่ เฉียง 45 องศารำข้างเสมอคิ้ว

• ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า เปลี่ยนกระบี่ทัดหู ลากเท้าขวาไปข้างหน้าเปลี่ยนหงายกระบี่เฉียง 45 องศา ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเข่าขวา รำข้างเสมอคิ้ว วางเท้าขวา หมุน 180องศา บิดตัวทางซ้าย

• ยืนในท่าทัดหู ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้ายยกเข่าซ้ายจ้วงกระบี่พร้อมก้าวเท้าขวาหงายกระบี่ 45 องศา ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวายกเท้าขวารำข้างเสมอคิ้ว วางเท้าขวามาทางด้านขวา หันหน้าไปทางซ้ายมือ 90 องศา ท่าทัดหู 

• ยืนในท่าทัดหู ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ยกเข่าซ้าย จ้วงกระบี่ พร้อมวางเท้าซ้าย แล้วก้าวเท้าขวาหงายกระบี่ 45 องศา ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเข่าขวารำข้างเสมอคิ้ว วางเท้าขวา หมุน 180 องศา บิดตัวทางซ้าย 


• ยืนในท่าทัดหู ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ยกเข่าซ้าย จ้วงกระบี่พร้อมวางเท้าซ้าย และก้าวเท้าขวา หงายกระบี่ 45 องศา ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวายกเข่าขวา รำข้างเสมอคิ้ว ควง 2รอบ ยืนคุมรำ เสร็จแล้ว ตรง





การขึ้นพรหมนั่ง

การขึ้นพรหมนั่ง

• พรหมนั่งให้นั่งหันขวาเข้าหาคู่นั่งพรหมยืน
• กระบี่วางด้านข้างกายทางซ้าย
• ประณมมือ ถวายบังคม 3 ครั้ง
• ประณมมือวันทา แล้วหยิบกระบี่

• ยกกระบี่ข้ามศีรษะจัดอยู่ระดับเอวขวาศอกแนบชิดลำตัวเป็นมุมฉาก เข้าขวาตั้งมือซ้ายจีบอก
• เปลี่ยนเข่า ตั้งเข่าซ้าย โล้ตัวไปข้างหน้า รำหน้า 

• หมุน 180 องศา กลับทางขวา กระบี่อยู่ที่เอวซ้ายรำข้าง เปลี่ยนเข่า ตั้งเข่าซ้ายพร้อมวาดกระบี่ออกนั่งคุมรำ


• โล้ตัวไปด้านหน้า รำหน้า หันทางขวา 90 องศา กระบี่อยู่ที่เอวซ้าย รำข้าง เปลี่ยนเข่า ตั้งเข่าซ้าย นุ่งคุมรำ

• โล้ตัวไปด้านหน้า ลุกขึ้นยืน ลากเท้าชิดขวาเท้าซ้าย ยกเท้าซ้าย รำหน้า วางเท้าหมุน180 องศาทางขวา กระบี่อยู่ที่เอวซ้าย รำข้างระดับคิ้ว ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวา พร้อมวาดกระบี่ออกทางขวา วางเท้าอยู่ในท่ายืนคุมรำ (จะหันหน้าเข้าหาคู่ต่อสู้)


•  มือซ้ายรำข้าง วาดกระบี่ไปข้างหน้าสองรอบ มือซ้ายจีบเข้าอกวางเท้าขวาเฉียงไปทางขวา โล้ตัวไปข้างหน้า เข่าขวางอ เข่าซ้ายตึง กระบี่อยู่ทางขวา อยู่ในท่าคุมรำ



ประวัติของกระบี่กระบอง

  การเล่นกระบี่กระบองเป็นพื้นฐานเบื้องต้นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ของไทยที่เรียกว่า กระบี่กระบอง การเล่นกระบี่กระบองเป็นกีฬาที่บรรพบุรุษไทยนำเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธที่ใช้สู้รบกันในสมัยโบราณ มาฝึกซ้อมและเล่นในยามสงบ โดยนำหวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว ฯลฯ เอาหนังมาทำโล่ เขน ดั้ง ฯลฯ แล้วจัดมาตีต่อสู้กันเล่นหรือแข่งขันกันเป็นคู่ๆ ดุจสู้กันในสนามรบเป็นการฝึกหัดรุกและรับไปในตัว  

         การเล่นกระบี่กระบองเริ่มในสมัยใด ใครเป็นผู้คิดขึ้นไม่สามารถหาหลักฐานได้ เนื่องจากได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่เนื่องด้วยไทยเราเป็นชาตินักรบมาแต่โบราณ กระบี่กระบองซึ่งเป็นกีฬาของนักรบจึงน่าจะได้มีการเล่นกันมาเป็นเวลาช้านานควบคู่กับชนชาติไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่พออ้างอิงได้คือ วรรณคดี ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา กล่าวถึงอิเหนาชำนาญในการกระบี่ 
            ในรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงศรีสุวรรณเล่าเรื่องกระบี่กระบองกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์
         
            ในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดปรานกระบี่กระบองมาก ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ทรงหัดกระบี่กระบองจนครบวงจร และโปรดให้เล่นกระบี่กระบองเป็นการสมโภชที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในการทรงผนวชเป็นสามเณรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อใน พ.ศ. 2409

           ในรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการเล่นกระบี่กระบอง และชกมวยไทยหน้าพระที่นั่งในงานสมโภชอยู่เนืองๆ กระบี่กระบองมีกันดาษดื่นและมากคณะ 

          ในรัชกาลที่ 6 ความครึกครื้นในการเล่นกระบี่กระบองลดน้อยลง เพราะไม่ทรงโปรดเท่ารัชกาลที่ 5 

          ในรัชกาลที่ 7 กระบี่กระบองค่อยๆ หมดไปจนเกือบหาดูไม่ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันกับความเจริญก้าวหน้าของโลกอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนทั่วไปมุ่งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมมากขึ้น
          ต่อมา อาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้เป็นผู้นำวิชากระบี่กระบองบรรจุไว้ในหลักสูตรประโยค ผู้สอนพลศึกษา ในปีพ.ศ.2479 และเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องในฐานะผู้อนุรักษ์ฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้  ในปี พ.ศ.2518ได้มีการจัดให้วิชากระบี่กระบองเป็นวิชาบังคับในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและในปี พ.ศ.2521 เป็นวิชาบังคับในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงยังคงมีการเรียนการสอนอยู่ทุกวันนี้